17 ต.ค. 2554

สูตรแป้งจี่ ขนมไทย

แป้งจี่ ขนมไทย
ขนมแป้งจี่ เป็นขนมไทยโบราณไม่หวานมาก ลักษณะที่ดีคือ ต้องกรอบนอก นุ่มใน และข้อควรระวังเพื่อความอร่อยของขนมคือ อย่าใช้ไฟแรง ต้องเป็นไฟอ่อน ขนมจะกรอบทน และชวน รับประทาน ถ้าไม่ชอบข้าวเหนียวขาว จะใช้ข้าวเหนียวดำแทนก็ได้

ส่วนผสม สูตรแป้งจี่ ขนมไทย
มะพร้าวทึนทึกขูดหยาบๆ 1 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเหนียว 3/4 ถ้วยตวง
แป้งมัน 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
ไข่ไก่ 1 ฟอง
หัวกะทิ 1/4 ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 2 ช้อนโต๊ะ
ข้าวโพดต้มสุกฝานบางๆ 1/4 ถ้วยตวง

1. ผสมแป้งข้าวเหนียว แป้งมัน มะพร้าวทึนทึก น้ำตาลทราย เข้าด้วยกัน
2. ใส่หัวกะทิทีละน้อย นวดให้เข้ากัน ประมาณ 5 นาที ใส่กะทิที่เหลือให้หมด
3. ใส่น้ำตาลทราย ไข่ไก่ น้ำใบเตย และข้าวโพด เคล้าให้เข้ากัน
4. นำกระทะแบนวางบนเตา ใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ร้อนแล้วตักขนมหยอด 1 ช้อนโต๊ะ กดให้แบนเล็กน้อย สุกเหลืองแล้วกลับอีกด้าน ให้สุกเหลืองทั้งสองด้าน จะเสิร์ฟเป็นของหวาน หรีอเสิร์ฟกับน้ำชา กาแฟก็ได้


13 ต.ค. 2554

เต้าส่วนเม็ดบัว ขนมไทย

เต้าส่วนเม็ดบัว
เต้าส่วนนั้นทำมาจากถั่วเขียว ซึ่งเมล็ดถั่วเขียวนั้น มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น นำมาต้มแล้วกินเป็นยาขับปัสสาวะ สำหรับคนที่เป็นโรคเหน็บชา ส่วนถั่วเขียวที่ดิบหรือที่ต้มสุกแล้วใช้ตำพอกเป็นยารักษาภายนอก
ช่วยบ่มหนองให้ฝีสุก แก่โรคท้องมาน และท้องร่วง นอกจากนี้เมื่อนำถั่วเขียวมาเพาะเป็นถั่วงอกจะให้วิตามินเอ บี และซี อีกด้วย
แต่ขนมไทยสูตรนี้นอกจากจะมีถั่วเขียวแล้วก็ยังมีเม็ดบัวซึ่งมีประโยชน์อีกเช่นกัน คือ เม็ดบัวเป็นแหล่งที่อุดมด้วยโปรตีน คือ มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 23 % ซึ่งสูงกว่าข้าว 3 เท่า และนอกจากนั้น ก็ยังมีวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เกลือแร่ ฟอสฟอรัส ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงประสาท บำรุงไต และบำรุงสมอง ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง
จะเห็นว่า ขนมไทยสูตรนี้ มีประโยชน์มากมายทีเดียว และวิธีการทำก็ง่าย ดังนี้

ส่วนผสมของเต้าส่วนเม็ดบัว ขนมไทย
ถั่วเขียวเลาะเปลือกนึ่งสุก(ใช้ถั่วดิบ ½ ถ้วยตวง) 1 ถ้วยตวง
เม็ดบัวต้มสุก 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 2 ถ้วยตวง (ถ้าไม่มีมะลิที่ปลูกเอง ให้ใช้น้ำสะอาดผสมกับกลิ่นมะลิ จะได้ความหอมในระดับหนึ่ง)
แป้งท้าวยายม่อม 1/4 ถ้วยตวง
น้ำละลายแป้งท้าวยายม่อม ¼ ถ้วยตวง
หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1 ช้อนชา

วิธีทำเต้าส่วนเม็ดบัว ขนมไทย
1. ผสมน้ำดอกมะลิกับน้ำตาลทรายใส่กระทะทอง ตั้งไฟกลาง คนให้น้ำตาลละลายและให้เดือด
2. ละลายแป้งท้าวยายม่อม กับน้ำตาลตามส่วนลงในส่วนผสมข้อที่ 1. คนเร็วๆอย่าให้แป้งเป็นเม็ด พอสุกและใส
3. ใส่ถั่วเขียวนึ่งสุกและเม็ดบัวต้มสุก คนให้เข้ากัน ยกลง
4. ผสมหัวกะทิกับเกลือ ตั้งไฟกลางประมาณ 2 - 3 นาที ยกลงกรองพักไว้
5. เมื่อจะเสิร์ฟ ตักขนมเต้าส่วนเม็ดบัวใส่ถ้วย ราดด้วยหัวกะทิ
เม็ดถั่วเขียวเลาะเปลือก เม็ดบัวต้ม ฝักบัว

9 ต.ค. 2554

น้ำตาลสำหรับทำขนมไทย

น้ำตาลสำหรับทำขนมไทยนั้นมีหลายประเภทแล้วแต่ว่าขนมที่เราทำนั้นเหมาะสมที่จะใช้น้ำตาลอะไร ประเภทของน้ำตาล ได้แก่












น้ำตาลทรายขาว

เป็นน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย โดยเริ่มจากการสกัดน้ำอ้อย แล้วผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำตาลทรายดิบ ทำให้ตกผลึก จะได้น้ำตาลทรายขาว








น้ำตาลอ้อย
ผลิตจากอ้อย ได้แก่ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อย ถ้าน้ำตาลที่เคี่ยวแล้ว ใส่ลงในหลุมหรือพิมพ์รูปร่างต่างๆ เรียกว่า น้ำตาลงบ









น้ำตาลมะพร้าว
ทำจากมะพร้าว เรียกว่าน้ำตาลปี๊บ โดยใช้น้ำหวานจากจั่นมะพร้าวเป็นวัตถุดิบ น้ำตาลมะพร้าว มีคุณภาพดี สีนวล ละเอียด กลิ่นหอม ไม่เหลว








น้ำตาลโตนด
เป็นน้ำตาล ที่ทำมาจาก น้ำตาลสด จากปลีตาล น้ำตาลโตนด มีลักษณะแห้ง และแข็งกว่า น้ำตาลมะพร้าว

16 ก.ย. 2554

ข้าวต้มมัดเตยหอม ขนมไทย

ข้าวต้มมัดเตยหอม ขนมไทย
การทำขนมไทย โดยเฉพาะ ข้าวต้มมัดที่อร่อย ต้องมัน ใช้เฉพาะหัวกะทิล้วนๆ ถ้าจะใส่ถั่วต้องต้มถั่วให้สุกก่อน และเวลาผัดอย่าผัดน้ำตาลไปพร้อมข้าวเหนียว ข้าวเหนียวจะไม่สุก
ส่วนผสม ข้าวต้มมัดเตยหอม
ข้าวเหนียวเขี้ยวงูแช่น้ำ 1 ชั่วโมง 1 ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 3/4 ถ้วยตวง
หัวกะทิ 1/4 ถ้วยตวง + 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วยตวง + 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ
กล้วยน้ำว้าสุก ผ่า 2 ซีก 6 ผล
ถั่วดำต้มสุก 1/4 ถ้วยตวง
ใบตอง
ตอกสำหรับมัด (แช่น้ำ 15 นาที)

วิธีทำ ข้าวต้มมัดเตยหอม
1. แช่ข้าวเหนียวในน้ำเปล่าพอท่วม ประมาณ 1 ชั่วโมง พักให้สะเด็ดน้ำ
2. ผสมหัวกะทิกับเกลือ ใส่กระทะทอง ใส่ข้าวเหนียว ผัดให้แห้ง
3. ใส่น้ำใบเตยผัดให้แห้งอีกครั้ง ใส่น้ำตาลทราย ผัดให้เข้ากัน ยกลงทิ้งให้เย็น
4. ฉีกใบตองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัดหัวท้ายให้เเหลมเล็กน้อย ขนาด 5 x 8 นิ้ว แล้วเช็ดให้สะอาด
5. ใส่ข้าวเหนียวลงบนใบตอง ถั่วดำ กล้วยน้ำว้าและปิดด้วยข้าวเหนียวอีกครั้ง
6. ห่อให้มิด พับหัวท้าย ให้มีนมทั้งสองข้าง มัดด้วยตอกให้แน่น
7. นั่งในลังถึงด้วยไฟกลาง น้ำเดือดประมาณ 1 – 1 /2 ชั่วโมง


12 ก.ย. 2554

ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย

ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย
ขนมนี้จะเน้นที่รสต้องหวานมัน และหน้ากะทิต้องแตกมัน ส่วนผสมหลักๆ จะมี 2 ส่วนคือ ตัวขนม และหน้าขนม
ส่วนผสม ตัวขนม ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย
แป้งข้าวเจ้า 3/4 ถ้วยตวง
แป้งท้าวยายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลมะพร้าว 1/2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1 1/4 ถ้วยตวง
น้ำใบเตยคั้นข้นๆ 1/2 ถ้วยตวง



ส่วนผสม หน้าขนม ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย
แป้งข้าวเจ้า 1/4 ถ้วยตวง + 2 ช้อนโต๊ะ
หัวกะทิ 1 1/2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
เกลือป่น 1 ช้อนชา

1. ผสมแป้งทั้ง 2 ชนิด เข้าด้วยกัน ค่อยๆ เทหางกะทีใส่ทีละน้อย นวดประมาณ 10 นาที ใส่หางกะทิที่เหลือให้หมด ใส่น้ำตาล น้ำใบเตย กรองด้วยผ้าขาวบางพักไว้
2. ผสมส่วนผสมของหน้าขนมทั้งหมดให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบางพักไว้
3. ตั้งลังถึงใส่น้ำ 3/4 ของลังถึง นำถ้วยตะไลนึ่งประมาณ 5 นาทีแล้วหยอดตัวขนมลงไป 3/4 ถ้วย นึ่ง 3 นาที
4. หยอดหน้าขนมลงไปให้เต็มถ้วย นึ่งต่ออีกประมาณ 3-5 นาที
5. จะเสิร์ฟทั้งถ้วยก็ได้ ถ้าจะเอาออกจากพิมพ์ ต้องรอให้ขนมเย็นก่อน


28 ส.ค. 2554

แกงบวดสามเกลอ ขนมไทย

แกงบวดสามเกลอ ขนมไทย
แกงบวดนี้ดัดแปลงมาจากแกงบวดฟักทอง หรืออื่นๆ แต่นำมารวมกัน หลายๆ ชนิดสูตรต้นตำรับ ใช้น้ำตาลมะพร้าว แต่ที่ผสมน้ำตาลทรายลงไปด้วย เพราะบางคนไม่ชินลิ้นกับน้ำตาลมะพร้าวล้วนๆ เวลาใส่น้ำตาลนั้น อย่าให้ฟักทอง เผือก มัน สุกจนเละ พอสุกก็ใส่น้ำตาลได้แล้ว

ส่วนผสมแกงบวดสามเกลอ ขนมไทย
มันเทศ ฟักทอง เผือกหั่นชิ้นเล็กยาว 1 1/2 นิ้ว(หรือจะใช้พิมพ์กดเป็นรูปต่างๆ) 1 ½ ถ้วยตวง
น้ำปูนใส 2 ถ้วยตวง
หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1 1/2 ถ้วยตวง
น้ำตาลมะพร้าว 1/2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 2 ช้อนโตะ
เกลีอป่น 1ช้อนชา

1. นำฟักทอง มันเทศ เผือก ที่หั่นแล้ว แช่น้ำปูนใสประมาณ 15 นาที นำขึ้นมาล้างน้ำ ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2. ผสมหัวกะทิกับเกลือ เข้าด้วยกันพักไว้
3. ตั้งกระทะทอง ใส่หางกะทิ ใส่เผือกกับมันลงต้ม ประมาณ 5 นาที หรือพอเริ่มสุกใส่ฟักทอง ต้มประมาณ 5 นาที หรือพอสุกใส่น้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลทรายตั้งไฟให้เดือด ใส่หัวกะทิในข้อ 2. ยกลง


26 ส.ค. 2554

ขนมโคกะทิสด ขนมไทย

ขนมโคกะทิสด ขนมไทย
เป็นขนมโบราณที่ไม่ค่อยเห็น การอบไส้ขนมทุกชนิดด้วยควันเทียน ต้องให้ขนมเย็นก่อนเสมอจุดสำคัญของขนมนี้คือกะทิต้องขาวสวย เหมือนกะทิสด น้ำกะทิจะมีรสเค็มหวานเล็กน้อย สมัยโบราณทำเฉพาะสีขาว แต่ปัจจุบันทำเป็นสีต่างๆ เพื่อให้ชวนรับประทาน

ส่วนผสมไส้ขนมขนมโคกะทิสด ขนมไทย
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลมะพร้าว 1/2 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า ¼ ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำกะทิ
หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1 ช้อนชา

ส่วนผสมแป้ง
แป้งข้าวเหนียว 1 ½ ถ้วยตวง
น้ำร้อน ½ ถ้วยตวง

วิธีทำขนมโคกะทิสด ขนมไทย
1. นวดแปังข้าวเหนียวกับน้ำร้อน ให้แป้งเนียนและนุ่ม ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมคร พักไว้
2. ผสมน้ำตาลมะพร้าวกับน้ำเปล่า พอน้ำตาลละลายใส่มะพร้าว กวนให้เข้ากันตั้งไฟกลางค่อนข้างอ่อน กวนประมาณ 5 นาที หรือจนกว่าไส้ขนมจะเเห้ง
3. ปั้นเป็นกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เชนติเมตร อบควันเทียน 20-30 นาที
4. แผ่แป้งที่ปั้นไว้แล้วให้บาง วางไส้ตรงกลางหุ้มให้มิด คลึงเป็นก้อนกลมๆ
5. ต้มน้ำให้เดือด นำขนมที่ใส่ไส้แล้วลงต้มให้สุก พอลอย ตักขึ้นผ่านน้ำเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งติดกัน
6. ผสมหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า เกลือป่น น้ำตาลทราย ใส่หม้อ คนให้แป้งละลายตั้งไฟกลาง คนไปเรื่อยๆ พอเดือดเล็กน้อย หรือควันขึ้นรีบยกลงทันที
7. ตักขนมโคกะทิสดใส่ถ้วย เมื่อจะรับประทาน ราดหน้าด้วยน้ำกะทิ


19 ส.ค. 2554

ข้าวต้มน้ำวุ้น

ข้าวต้มน้ำวุ้น
ขนมนี้เป็นขนมโบราณ ห่อด้วยใบเตยได้แต่ไม่สวย เพราะขนาดใบเตยไม่เท่ากัน จึงนิยมห่อด้วยใบตองมากกว่า เพราะกำหนดขนาดได้ การห่อนั้นต้องห่อให้แน่น มิฉะนั้น เวลาต้มขนมจะแตก และน้ำเข้าไปทำให้ไม่เหนียว

ส่วนผสมข้าวต้มน้ำวุ้น

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1 ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 2 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำเชื่อม
น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วยตวง
ใบตอง
ไม้กลัด


1. ล้างข้าวเหนียวให้สะอาด แช่กับน้ำใบเตยพักไว้ 1 ชั่วโมง
2. ฉีกใบตองขนาดกว้าง 1 นิ้ว จับปลายให้เป็นรูปกรวย นำข้าวเหนียวใส่ลงในกรวย
3. พับทบจนสุดใบตอง ให้เป็นลักษณะสามเหลี่ยม ใช้ไม้กลัด กลัดตรงกลางให้แน่น
4. ต้มในน้ำเดือด ด้วยไฟกลาง ประมาณ 30 นาที หรือจนกว่าข้าวเหนียวสุก
5. ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิเข้าด้วยกัน ตั้งไฟเคี่ยวให้เดือดประมาณ5 นาที ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น อบด้วยควันเทียนประมาณ 1 -3 ชั่วโมง
6. เมื่อจะเสิร์ฟแกะข้าวเหนียวออกจากใบตองใส่ถ้วย ใส่น้ำเชื่อม และน้ำแข็งก้อน เล็ก ๆ


7 ส.ค. 2554

ลอดช่องใบเตยน้ำกะทิ

ลอดช่องใบเตยน้ำกะทิ


การทำลอดช่องนั้นส่วนสำคัญที่สุดคือน้ำปูนใส ต้องเป็นน้ำปูนใสที่ทำใหม่ๆ ในเช้าวันนั้นโดยใช้อัตราส่วนปูนแดง 1 ส่วน ต่อน้ำ 20 ส่วน ถ้าใช้น้ำตาลมะพร้าวจะหอมกว่าน้ำตาลปี๊บมาก ถ้าจะใส่ขนุน ให้นำขนุนไปต้มกับน้ำเชื่อมของน้ำตาลทรายก่อน อย่าใส่สดๆ เพราะขนุนเสียง่าย

ส่วนผสมตัวลอดช่องใบเตยน้ำกะทิ
แป้งข้าวเจ้า 1 1/4 ถ้วยตวง
แป้งซ่าหริ่ม (แป้งถั่วเขียว) 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งท้าวยายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปูนใส 2 ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำกะทิสำหรับลอดช่องใบเตยน้ำกะทิ
หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลมะพร้าว ½ ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา

วิธีทำตัวลอดช่องใบเตย
1 ผสมแป้งทั้ง 4 ชนิด เข้าด้วยกัน ในกระทะทอง ค่อยๆ ใส่น้ำปูนใสทีละน้อยนวดให้แป้งเนียนประมาณ 15 นาที ใส่น้ำที่เหลือให้หมด
2. ตั้งไฟอ่อน ไฟกลางค่อนข้างแรง จนกว่าแป้งจะข้น ใส่น้ำใบเตย กวนต่อให้ข้นอีกครั้ง แล้วลดไฟลง ใช้ไฟกลางกวนจนกว่าจะเหนียว ประมาณ 30 นาที
3. ตักใส่พิมพ์กดลงในน้ำเย็นจัด จนหมด เทใส่กระชอนพักให้สะเด็ดน้ำ

วิธีทำน้ำกะทิลอดช่องใบเตย
1 ผสมส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง เคี่ยวพอเดือดทั่วกัน ประมาณ 5 นาที
2 ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง
3. เมื่อจะเสิร์ฟ ตักลอดช่องใบเตยใส่ถ้วย ใส่น้ำกะทิและน้ำแข็งป่น เพียงเท่านี้ก็จะได้ลอดช่องใบเตยน้ำกะทิที่หวานเย็น หอมมัน ไว้รับประทานดับความร้อน

5 ส.ค. 2554

ทับทิมกรอบ

สูตรทับทิมกรอบ


ทับทิมกรอบนั้นนิยมใช้แห้วทำเนื่องจากจะมีความหวานมันในตัว แต่ถ้าหาแห้วสดไม่ได้ จะใช้แห้วกระป๋องแทนก็ได้ นอกจากแห้วแล้ว แป้งท้าวยายม่อมเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้แห้งติดแล้วได้นาน ขณะที่นำแล้วไปต้ม อย่าให้น้ำเดือดมาก แป้งจะหลุดหมด สีที่ใช้นอกจากจะใช้น้ำหวานสีแดงแล้ว จะใช้สีเหลืองหรือสีเขียวก็ได้ วิธีทำเช่นเดียวกัน


ส่วนผสมทับทิมกรอบ
1.แห้วจีนดิบ หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หรือแห้วกระป๋อง 1 ถ้วยตวง
2.น้ำหวานสีแดง 1/2 ถ้วยตวง
3.แป้งมัน 1 ถ้วยตวง
4.แป้งท้าวยายม่อม ป่นละเอียด 1/4 ถ้วยตวง


ส่วนผสมน้ำเชื่อมสำหรับทับทิมกรอบ
1.น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วยตวง
2.น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำกะทิทับทิมกรอบ
1.หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
2.เกลือป่น 1 ½ ถ้วยตวง
3.ขนุนหั่นเล็กๆ สั้นๆ ¼ ถ้วยตวง

วิธีทำทับทิมกรอบ
1. แช่แห้วในน้ำหวานสีแดง พักไว้ประมาณ 30 นาที
2. ผสมแป้งมันกับแป้งท้าวยายม่อม ให้เข้ากัน
3. กรองแห้วด้วยกระชอนให้สะเด็ดน้ำ นำไปคลุกในแป้งข้อ 2. ให้ทั่ว พักไว้ 5- 10 นาที
4. เมื่อน้ำต้มพอเดือด นำแห้วที่คลุกแป้งแล้วลงต้มพอสุกลอยตักขึ้น พักไว้ในน้ำ เย็น
5. ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ แช่ในน้ำเชื่อม

วิธีทำน้ำเชื่อมทับทิมกรอบ

1.ผสมน้ำลอยดอกมะลิกับน้ำตาลทราย ตั้งไฟกลาง เคี่ยว 5 นาที ใส่ขนุน
2.เคี่ยวต่ออีก 5 นาที ยกลงทิ้งให้เย็น นำไปอบควันเทียน 20 - 30 นาที

วิธีทำน้ำกะทิทับทิมกรอบ
1.ผสมหัวกะทิกับเกลือใสหม้อตั้งไฟกลาง ประมาณ 2 นาที ยกลง
2.เมื่อจะเสิร์ฟตักทับทิมใส่ถ้วย ใส่น้ำเชื่อม น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ราดด้วยน้ำกะทิ นอกจากจะนิยมใส่ขนุนลงไปแล้ว ยังนิยมใส่มะพร้าวกะทิลงไปด้วย ทำให้รสชาติอร่อยยิ่งขึ้น

17 มี.ค. 2554

ขนมหยกมณี

ขนมหยกมณี
ขนมหยกมณีเป็นขนมที่ทำจากเม็ดสาคู และปัจจุบันมีสาคูสีเขียว และสีอื่นๆ ขาย ถ้าใช้สาคูสีเขียวไม่ต้องแช่ด้วยน้ำใบเตยถ้าเป็นสีขาวจึงจะแช่ด้วยน้ำใบเตย ในระหว่างการทำถ้าสาคูยังไม่สุก อย่าใส่น้ำตาลทราย จะทำให้สาคูไม่สุก ควรเลือกมะพร้าวทึนทึกทีค่อนข้างอ่อน จะทำให้ขนมอร่อยขึ้น

ส่วนผสมขนมหยกมณี
สาคูเม็ดเล็ก ½ ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 3/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา

วิธีทำขนมหยกมณี
1. ผสมมะพร้าวทึนทึกกับเกลือให้เข้ากัน นึ่งไฟกลาง 5- 10 นาที
2. ตั้งกระทะทองใส่น้ำใบเตย และน้ำตาลทราย 1/4 ถ้วยตวง เคี่ยวให้เดือด
3. ใส่เม็ดสาคูลงไป กวนพอสุกเป็นตากบเล็กน้อย ใส่น้ำตาลทรายที่เหลือลงไปกวนต่อจนสาคูสุกใส
4. เทขนมที่สุกแล้วลงในมะพร้าวที่นึ่งแล้วในข้อ 1.
5. ตัดเป็นชิ้นพอคำ คลุกกับมะพร้าวให้ทั่วใส่ถ้วยเล็กๆ


ขนมขี้หนู ขนมไทย

ขนมขี้หนู
ขนมขี้หนู ขนมไทย ขนมนี้มีหลายชื่อ เช่น ขนมขี้หนู ขนมทราย และขนมละอองฟ้า เทคนิคสำคัญที่สุดในการทำขนมขี้หนู คือ ขณะใส่น้ำเชื่อมลงในแป้ง โรยน้ำเชื่อมให้ทั่วแป้ง และห้ามคนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ขนมเสียไม่ฟู และการอบขนมด้วยควันเทียน นอกจากจะอบขณะอบขนมเย็นแล้วยังสามารถใส่ดอกมะลิ หรือกุหลาบมอญลงไปด้วยก็ได้หรือถ้าต้องการจะใส่สีต่างๆ ให้หยดสีลงไปในน้ำเชื่อม

ส่วนผสมตัวแป้งขนมขี้หนู ขนมไทย
แป้งข้าวเจ้า 1 1/4 ถ้วยตวง
กะทิ 1/4 ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
น้ำสะอาด 12 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย า1ถ้วยตวง
สีตามชอบ

วิธีทำขนมขี้หนู ขนมไทย
1 เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิ ให้เหลือ 3/4 ถ้วย ก่อน ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
2 เทแป้งใส่ชาม ค่อยๆ เทกะทิลงในเนื้อแป้งทีละน้อย คนให้เข้ากันจนได้เนี้อแป้ง ออกมามีลักษณะเปียกหมาดๆ
3 ยีแป้งด้วยที่ร่อนแปัง 2-3 ครั้ง บนผ้าขาวบาง.
4. นำไปนึ่ง ใช้ไฟแรง นึ่งประมาณ 25 นาที
5. นำแป้งที่นึ่งสุกใส่ภาชนะ ค่อยๆ เทน้ำเชื่อมราดลงให้ทั่วเนื้อแป้งห้ามคนทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
6. ใช้ส้อม ค่อยๆ เกลี่ยแป้งให้ฟูขึ้น นำไปอบควันเทียน
7. โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยคลุกเกลือ เพียงเท่านี้ก็จะได้ขนมขี้หนู ขนมแบบไทยๆ สีสันสดใส และแสนอร่อยไว้ทั้งรับประทานเองหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริม


16 มี.ค. 2554

วิธีทำน้ำปูนใส

น้ำปูนใส
น้ำปูนใส ที่ใช้ทำขนมทำมาจากปูนแดง ที่ไม่ใส่สีเสียด ปูนแดงได้จากปูนขาวผสมกับขมิ้น
วิธีทำน้ำปูนใส คือ ใช้ปูนแดง 1 ส่วน น้ำสะอาด 20 ส่วน คนให้เข้ากัน รอสักครู่จะมีน้ำใสลอยขึ้นมา ส่วนที่เป็นปูนแดง จะตกตะกอนอยู่ข้างล่าง เวลานำไปใช้ตักเฉพาะน้ำใสๆ เรียกว่า น้ำปูนใส
อย่างไรก็ตาม น้ำปูนใสที่ทำใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติดีกว่า น้ำปูนใส ที่ทำเก็บไว้นานแล้ว

7 มี.ค. 2554

กะทิที่ใช้ทำขนมไทย

กะทิที่ใช้ทำขนมไทย
กะทิที่ใช้ทำขนมไทยนั้น สมัยโบราณ ใช้มะพร้าวขูด โดยใช้มะพร้าวขูดขาว เพราะต้องการให้กะทิคั้นออกมาเป็นสีขาว

การคั้นกะทิ
เพื่อให้ได้หัวกะทิข้นๆ ควรคั้นด้วยน้ำอุ่นๆ ใส่น้ำน้อยๆ จะเป็นหัวกะทิ ครั้งต่อๆ ไป จะเป็นหางกะทิ โดยทั่วไปนิยมคั้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ หัวกะทิ ครั้งที่ 2 คือ หางกะทิชนิดข้น และ ครั้งที่ 3 จะเป็นหางกะทิ

เป็นที่น่าสังเกตว่า กะทิคั้นจากมะพร้าวจะหอมและอร่อยกว่ากะทิสำเร็จรูป
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกในการซื้อหา ถ้าต้องใช้กะทิสำเร็จรูป อย่าลืมเขย่ากล่องก่อนใช้ทุกครั้ง

2 มี.ค. 2554

กระทะทอง

กระทะทอง










การทำขนมไทย ต้องใช้กระทะทองเป็นสำคัญ กระทะทองเป็นจุดเด่นของขนมไทย และแสดงความเป็นไทยโดยแท้จริง คุณสมบัติของกระทะทองคือ ทำได้ทั้งอาหารคาวและหวาน โดยไม่เก็บกลิ่น และไม่ไหม้
ใช้กระทะทองเสร็จแล้วต้องมีวิธีทำความสะอาด ให้สวยงามอยู่เสมอ วิธีง่ายๆ คือ ใช้ของที่มีรสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นกรด เช่น มะขามเปียก มะนาว สับปะรด น้ำส้มสายชู หรือสิ่งที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ ถูให้ทั่ว แล้วล้างด้วยน้ำยาล้างจานอีกครั้ง กระทะทองหรือภาชนะที่ทำด้วยทองเหลือง จะสะอาดเป็นเงางาม

21 ก.พ. 2554

สีต่างๆในขนมไทย

ขนมไทยนั้นบางชนิดจำเป็นต้องใส่สีเพื่อให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งในขนมไทยนั้นสีที่ใช้มักจะใช้สีอ่อนๆ ไม่ฉูดฉาด

อัญชัน
การทำน้ำดอกอัญชั
ล้างดอกอัญชันด้วยน้ำเบาๆ มือ เพื่อไม่ให้ดอกช้ำ เด็ดส่วนสีขาวออกให้หมด ใส่ภาชนะ เทน้ำร้อนใส่ สักครู่สีน้ำเงินจะละลายออกมาเอง ทิ้งให้เย็นจึงจะนำไปทำขนมได้
ถ้าต้องการให้เป็นสีม่วง ทำได้โดยการใส่น้ำมะนาวอีกวิธีหนึ่งคือ โดยการหยดสีชมพูลงไปเล็กน้อย จะได้สีม่วงเช่นเดียวกัน

ใบเตย
การทำน้ำใบเตย
ล้างใบเตยให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกหรือปั่นกับน้ำสะอาดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้เฉพาะน้ำสีเขียวการใช้น้ำใบเตย ถ้าสีแก่มาก จะมีรสขม
ถ้าใช้น้ำใบเตยทำขนม ควรใส่น้ำใบเตยเมื่อขนมจวนจะสุกรอบสอง จะทำให้ขนมสีสวยกว่าใส่ครั้งแรก สำคัญที่สุด ต้องเลือกใช้เตยหอม

ดอกกรรณิการ์
การทำน้ำดอกกรรณิการ์
เด็ดเฉพาะส่วนก้านของดอกกรรณิการ์ ใส่ลงในน้ำร้อนสักครู่ สีเหลืองจะละลายออกมา

การใส่สีขนมเพื่อไม่ให้สีเปลี่ยน
ถ้าเป็นขนมที่มีน้ำเชื่อม ให้ใส่สีลงในน้ำเชื่อม เช่น ขนมฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และขนมสัมปันนี
ถ้าเป็นขนมที่ต้องกวน เช่น ลอดช่อง เปียกปูน ให้ใส่สีก่อนที่ขนมจะได้ที่เพียงเล็กน้อย

วิธีอบขนมด้วยเทียบอบ
นำขนมใส่ภาชนะ หรือขวดโหลที่มีฝาปิดสนิท จุดเทียนอบให้ไฟติด และลามถึงตัวเทียนทั้งสองด้าน แล้วรีบดับเทียน หาที่วางเล็กๆ ใส่ลงไปตรงกลาง ปิดฝาทันที ทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ขนมจะหอมทน

19 ก.พ. 2554

การลอยน้ำด้วยดอกมะลิ

น้ำลอยดอกมะลิ

สมัยโบราณ นิยมใช้น้ำลอยดอกมะลิในการทำขนม การลอยน้ำดอกมะลิให้หอมนั้นมีวิธีการดังนี้คือ

วิธีทำน้ำลอยดอกมะลิ
1.ใช้น้ำสะอาด ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
2.ดอกมะลิที่ใช้ลอยต้องเป็นมะลิที่ปลูกเอง ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง
3.การเก็บดอกมะลิ ต้องเก็บประมาณ 6 โมงเย็น
4.เด็ดส่วนที่เป็นกลีบเลี้ยงออก ผ่านน้ำเบาๆ เพื่อล้างฝุ่น ใช้นิ้วชี้แตะที่ปลายดอกเบาๆ เพื่อให้กลีบแยกจากกัน ทำเช่นนี้จนหมดทุกดอกใส่ลงไปในน้ำ ปิดฝาให้สนิท
5.รุ่งเช้าประมาณ 6-7 โมงเช้า ตักดอกมะลิออกให้หมดใช้เฉพาะน้ำ น้ำจะหอม

ข้อควรระวังจะต้องตักดอกมะลิออกในตอนเช้า ถ้าทิ้งไว้ มะลิจะช้ำ เป็นเหตุให้น้ำที่ลอยดอกมะลิไว้ไม่หอมด้วย
ดอกมะลิ

14 ก.พ. 2554

ดอกไม้ที่ใช้อบขนมคู่กับอบเทียนหอม

ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้ดอกกุหลาบมอญ ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ซึ่งมีเคล็ดลับดังนี้
1.ดอกกระดังงา
กระดังงาดอกไม้อบเทียนหอม
ต้องนำส่วนดอกไปลนไฟด้วยเทียบอบให้หอมก่อน และบีบกระเปาะให้กลีบร่วง
ควรใช้กระดังงาดอกเหลืองจะหอม

2. กุหลาบมอญ
กุหลาบมอญดอกไม้อบเทียนหอม
ฉีกกลีบก่อนอบ คือใช้เฉพาะส่วนกลีบเท่านั้น กลีบละ 2-3 ชิ้น ใส่ลงในภาชนะที่มีขนม ปิดให้มิดชิด

ดอกไม้ที่นำมาใช้อบเทียนหอมแต่ที่นิยมกันส่วนมากแล้วจะใช้กระดังงาและกุหลาบเนื่องจากมีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว